จากตึกสุดพัง เซอร์ไพรส์เปลี่ยนจนใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ

Pattareeya Pattareeya
Agência Rock Comunicação, MM18 Arquitetura MM18 Arquitetura Commercial spaces
Loading admin actions …

เทรนด์หนึ่งในยุโรปที่มีมาหลายปีแล้ว คือการนำตู้คอนเทนเนอร์เก่ามาประกอบเป็นบ้านหรือออฟฟิศ นอกจากจะสะดวกแล้วยังได้ลุคเท่ๆ อีกด้วย อย่างสำนักงานใหญ่ของ FREITAG ของแบรนด์กระเป๋ารักษ์โลกชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ ก็ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่เคยใช้ในคาร์โก้มาเรียงต่อกันเป็นทาวเวอร์ ได้ประโยชน์ทั้งในแง่การรีไซเคิลตรงตามคอนเซ็ปต์บริเษัท และหน้าตาที่โดดเด่น 

สำหรับไอเดียบุคที่นำมาเสนอกันในครั้งนี้ ก็เป็นการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เก่ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเช่นกัน โดยโปรเจ็กต์นี้เป็นผลงานการปรับปรุง (หรือจริงๆ ต้องบอกว่าทำใหม่หมดเลยอาจจะถูกกว่า) ของบริษัทสถาปนิกดังจากเซาเปาโล MM18 Arquitetura บอกได้คำเดียวว่าเห็นผลงานตอนเสร็จแล้ว เราจินตนาการถึงสิ่งที่พวกเขาต้องเจอตอนแรกไม่ออกจริงๆ

ก่อน: บ้านเก่าด้านที่ดูยังไงก็… พัง!

สถานที่ก่อนปรับปรุงเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่โครงสร้างส่วนฐานรากยังมั่นคง แต่ตัวโครงสร้างประกอบในบางจุด เช่น เฉลียง หลังคา นั้นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ก่อน: ตึกบางด้านสภาพยังดี

เช่นที่กล่าวไปว่าอาคารเดิมนั้นฐานรากยังแข็งแรง และยังมีส่วนตึกด้านหลังที่ยังดูดีอยู่ หากแต่ต้องการการทำความสะอาดและปรับปรุงเรื่องสีอาคาร เพราะผนังชั้นนอกถูกเชื้อราทำลาย เช่นเดียวกับกระเบื้องปูทางเดินรอบสระน้ำ

หลัง: ทำสีใหม่

ตึกด้านที่ยังดูดีคือส่วนที่สถาปนิกและทีมเลือกจะคงตัวอาคารด้านนี้ไว้ แต่ต้องขูดเอาสีเก่าออกและทาสีใหม่ทับลงไป จากนั้นมีการเพนต์ลวดลายกราฟฟิกลงไปเพื่อเพิ่มความเก๋ เหมาะกับคาแรกเตอร์ของบริษัท

หลัง: อาคารใหม่ด้านหน้า

ตึกส่วนที่เหลือและทาสีใหม่กลายมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของอาคารทั้งหมด มีการทุบบางส่วนทิ้งแล้วต่อเติมโครงสร้างให้เป็นอาคารสองชั้นสไตล์ลอฟต์โล่งๆ ใช้ประโยชน์จากการนำตู้คอนเทนเนอร์เก่ามาทำเป็นชั้นสองของอาคาร เล่นลูกเล่นด้วยสีสันและเจาะช่องว่างติดกระจกโชว์โครงสร้างภายใน ส่วนด้านล่างเป็นห้องโครงโลหะ กรุผนังด้วยกระจก โชว์ความโปร่งภายในแบบเท่ๆ เช่นกัน

หลัง: ลวดลายกราฟฟิก

นอกจากเส้นสายลายเส้นที่เกิดจากกรอบของคอนเทนเนอร์ ภายในยังตกแต่งด้วยลายเล้นและภาพกราฟฟิก ทั้งผนัง การเรียงตัวของกรอบรูปและชั้นวางของ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์อย่างโซฟากลางห้องนี้ ก็มีรูปทรงและเส้นสายที่ไม่ซ้ำใคร ดูเป็นงานศิลปะสมัยใหม่ในตัวมันเอง

หลัง: ผนังอาคารด้านในเต็มไปด้วยสีสัน

ภายในตัวอาคารได้รับการออกแบบให้โชว์โครงสร้างภายใน ดูเป็นสไตล์อินดัสเตรียลเล็ก ๆ โดยขณะที่มีการเปลือยพื้น เปลือยโครงสร้างที่อยู่บนเพดาน รวมไปถึงการใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงานสีสันและแบบเรียบง่าย ผู้ออกแบบได้มุ่งสร้างสีสันและลูกเล่นในส่วนผนังห้องและตัวกั้นห้องแทน เช่นในภาพนี้ ซึ่งแม้แต่ตู้ล็อกเกอร์ที่ใช้เป็นพาร์ทิชั่นในตัว ก็ยังมีสีสันสดใสเช่นกัน

ภายในสำนักงาน

ห้องทำงานของพนักงานในอาคารหลังนี้ เน้นการเปิดพื้นที่โล่งและใช้โต๊ะเก้าอี้เรียงต่อกันอย่างง่ายและมินิมัลที่สุด เน้นให้สีสันของผู้คนเป็นสิ่งที่ประดับห้องไปเองในตัว

ห้องทำงานส่วนตัว

ห้องของผู้บริหารเป็นห้องส่วนตัว เน้นการตกแต่งด้วยสีสันเรียบง่าย เทา ดำ ขาว เช่นกัน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะยังเห็นคอนเซ็ปต์เรื่องเส้นสายลายเส้นกราฟฟิกปรากฏอยู่นในการเรียงตัวของโต๊ะและลวดลายบนโต๊ะด้วย

ส่วนต้อนรับสีสด

นอกจากจะสร้างความประทับใจจากรูปลักษณ์ภายนอกของตึกแล้ว ยังสร้างความประทับใจกันตั้งแต่ส่วนต้อนรับด้วยสีสันสุดสดใส เป็นสีน้ำเงินและเหลืองที่ดึงมาจากเฉดของด้านนอกตัวอาคารนั่นเอง

ระเบียงและส่วนพักผ่อน

ขึ้นชื่อว่าตกแต่งสำนักงานให้มีความสร้างสรรค์แล้ว ก็ต้องมีมุมพักผ่อนให้พนักงานได้มาสร้างจินตนาการด้วยเช่นกัน ทั้งมุมนั่งเล่นและห้องอ่านหนังสือที่เห็นอยู่ไกลๆ ของภาพ ระเบียงจัดเป็นพื้นเปิดโล่ง เพื่อความปลอดโปร่งและผ่อนคลายแก่ผู้พบเห็น

ห้องประชุม

นี่อาจเป็นห้องประชุมที่ดูสดใสที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยโต๊ะสีม่วงขาว โดยออกแบบให้ผนังมีสีเข้มเพื่อเบรกความฉูดฉาดให้อยู่ในระดับที่ดูดี ดูคลาสสิก แต่ก็ยังมีลวดลายกราฟฟิกมาสร้างความสนุกให้ห้องอยู่

มุมพักผ่อนนอกอาคาร

นอกจากการจัดพื้นที่พักผ่อนภายในอาคาร ยังมีการสร้างมุมที่นั่งเล็กๆ กระจายตัวอยู่ด้านหน้าตึก ใกล้กับสวนสีเขียวขนาดเล็ก โดยพื้นด้านหน้าปูด้วยไม้ระแนง ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นระบายสีสันให้กับพื้นที่ด้วยชุดเก้าอี้พลาสติกสีแดง เขียว บาดตาสุดๆ

ลานนั่งเล่นนอกอาคารอีกมุมหนึ่ง

ระเบียงด้านบน

ระเบียงด้านหน้าบนชั้นสองของอาคาร เป็นมุมสูดอากาศเล็กๆ จัดเป็นพื้นที่โปร่ง ปูพื้นด้วยไม้ระแนงและประดับด้วยกระถางไม้เลื้อย ดึงความเป็นธรรมชาติเข้ามาคอนทราสต์กับความเป็นโลหะของตู้คอนเทนเนอร์แบบมีลูกเล่น

กระจก โลหะ คอนกรีต และสีเขียว

องค์ประกอบของอาคารใหม่มีทั้งโลหะ คอนกรีต กระจก และความเป็นธรรมชาติของสวนที่อยู่รายรอบ เป็นสิ่งที่ดูค่อนข้างขัดกันแต่ไปด้วยกันได้อย่างลงตัว ขณะที่ผิวสัมผัสขององค์ประกอบเหล่านี้ก็ทำให้เกิดเส้นสายของตัวอาคารที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine